ซูรินาม และ เนเธอร์แลนด์ เป็นสองประเทศที่มีความเกี่ยวข้องทางประวัติศาสตร์มานานกว่า 400 ปี โดยเฉพาะเรื่องฟุตบอลนั้น นักเตะอย่าง รุด กุลลิต, แฟร้งก์ ไรจ์การ์ด และ คลาเรนซ์ เซดอร์ฟ ต่างก็มีต้นกำเนิดและเชื้อสายซูรินามทั้งสิ้น
ด้วยเหตุผลของความเจริญก้าวหน้าของชีวิตและอาชีพ ทำให้นักเตะเชื้อสายซูรินามหลายคนเลือกไปจะเริ่มชีวิตใหม่ที่เนเธอร์แลนด์เพื่อโอกาสที่ดีกว่า สิ่งเหล่านี้ทำให้ชาวซูรินามไร้ซึ่งแบบอย่างและแรงบันดาลใจในด้านฟุตบอล
นั่นเป็นสาเหตุที่กำเนิดทีมที่ชื่อว่า “จิน ที่มีสีสัน” ทีมฟุตบอลที่รวมเอานักเตะเชื้อสายดัตช์-ซูรินาม กลับไปโชว์ฝีเท้าในบ้านเกิดของพวกเขา เพื่อเรียกกระแสและสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้วงการฟุตบอลซูรินาม ซึ่ง รุด กุลลิต กับ แฟร้งก์ ไรจ์การ์ด เกือบได้ร่วมเล่นให้ทีมนี้ด้วย
ทว่าน่าเสียดายที่แมตช์นั้นไม่ได้เกิดขึ้น เพราะอุบัติเหตุทางอากาศครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศซูรินามที่คร่าชีวิตผู้เล่น จิน ที่มีสีสัน เกือบทั้งทีม
ติดตามเหตุการณ์ทั้งหมดที่นี่
สายสัมพันธ์ ซูรินาม-ดัตช์
ซูรินาม คือประเทศแถบแคริบเบียน ที่มีความเกี่ยวพันกับประเทศเนเธอร์แลนด์มาอย่างนมนาน เรื่องทั้งหมดเริ่มต้นจากยุคอาณานิคมในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 และกลายเป็นฝั่งซูรินามที่ต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองและเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์
การเป็นประเทศราช แน่นอนว่าชาวซูรินามท้องถิ่นต้องถูกกดขี่ ถูกใช้งานในงานด้านเกษตร เพาะปลูก และประมง เพื่อส่งไปยังเมืองใหญ่ที่เนเธอร์แลนด์ จากเหตุผลนี้เอง ทำให้ชาวซูรินามต้องอยู่อย่างขมขื่นและมีทัศนคติด้านลบต่อชาวดัตช์ไปโดยปริยาย
อย่างไรก็ตาม ต่อให้เกลียดแค่ไหน แต่การโดนกดทับไม่ให้เติบโตในบ้านเกิด ทำให้ชาวซูรินามหลายคนอพยพไปยังประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา แคนาดา หรือแม้กระทั่งการเข้าไปทำงานใช้แรงงานในประเทศที่กดขี่พวกเขาอย่างเนเธอร์แลนด์ เพื่อโอกาสที่ดีกว่า
แม้ในปี 1975 เนเธอร์แลนด์จะมอบอิสรภาพคืนแก่ซูรินาม แต่เมื่อช่วงเวลาแห่งการกดขี่ลากยาวมากกว่า 300 ปี รู้ตัวอีกที ชาวดัตช์เชื้อสายซูรินามก็อาศัยอยู่ในประเทศเนเธอร์แลนด์เต็มไปหมด โดยเฉพาะเมืองหลวงอย่างกรุงอัมสเตอร์ดัม
การเข้าไปทำงานในกลุ่มงานที่ใช้แรงและเป็นของชนชั้นรากหญ้า ทำให้คนเชื้อสายซูรินามมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ค่อยดีนัก โดยเฉพาะในแถบชานเมืองที่มีชาวซูรินามอาศัยอยู่มาก ที่นั่นเต็มไปด้วยครอบครัวที่แบกภาระเกินตัว และทำให้เด็กๆที่นั่นไม่ได้รับการดูแลใส่ใจเท่าที่ควร หลายคนอาจจะเติบโตไปทำงานผิดกฎหมายเพื่อหาเลี้ยงชีพ
ดังนั้น การให้โอกาสกับเด็กเหล่านั้นเพื่อทางเดินที่ดีกว่า ซอนนี่ ฮาสโน นักสังคมสงเคราะห์เชื้อสายดัตช์-ซูรินาม เชื่อว่าเป็นสิ่งที่รัฐบาลเนเธอร์แลนด์และทุกภาคส่วนต้องช่วยกันขับเคลื่อนโดยพร้อมเพรียง เพื่อให้เห็นความต่างอย่างชัดเจนที่สุด
แรกเริ่ม ฮาสโน นั้นมักจะจัดกิจกรรมต่างๆเพื่อหาเงินทุนเข้ามาช่วยเหลือเด็กๆ เชื้อสายซูรินามในย่านชานเมืองมาตลอดการทำงานของเขา เขาพยายามคิดค้นหลายวิธีที่จะเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตและแนวคิดของเด็กๆที่นี่ และสุดท้ายเขาก็ใช้ฟุตบอล ซึ่งเป็นกีฬาที่สร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างอาชีพได้จริง
ฮาสโน ไม่ได้แค่พยายามใช้ฟุตบอลมอบโอกาสให้ชาวซูรินามในเนเธอร์แลนด์เท่านั้น เมื่อมาถึงจุดหนึ่งที่องค์กรการกุศลของเขาเริ่มใหญ่ขึ้น เขารับรู้ว่าที่ซูรินาม ยังมีเด็กๆอีกหลายคนที่เฝ้ารอโอกาสและการสนับสนุนอยู่ ไม่ว่าจะเรื่องเงินหรือแรงบันดาลใจ
เขาเลยตั้งใจจะมอบประสบการณ์ล้ำค่าด้วยการใช้คอนเน็คชั่นที่เขามีอยู่ เชิญตัวนักเตะเชื้อสายซูรินามที่เล่นในลีกเนเธอร์แลนด์มารวมทีมกันเล่นเกมฟุตบอลการกุศล ภายใต้ชื่อทีมว่า “XI ที่มีสีสัน” ลงแข่งขันกับทีมนักเตะทีมชาติซูรินาม ที่ย้อนกลับไปในช่วงปี 1989 พวกเขายังไม่ติด 1 ใน 200 ของ ฟีฟ่า แรงกิ้ง เลย
“ทีม XI ที่มีสีสัน จะต้องประกอบด้วยนักเตะที่มีถิ่นกำเนิดในซูรินาม พวกเขาต้องเป็นผู้เล่นที่เล่นในระดับอาชีพหรือกึ่งอาชีพในประเทศเนเธอร์แลนด์ เราจะจัดเกมนี้ขึ้นในเดือนมิถุนายนปี 1989 การแข่งขันครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อความสนุกสนาน การสร้างความสามัคคี การระดมเงินเพื่อการกุศลในซูรินาม ทุกคนที่อยู่ในสนามวันนั้นจะได้เพลิดเพลินกับเครื่องดื่มและอาหารดีๆมากมาย ขับกล่อมด้วยวงดุริยางค์ชื่อดังอย่าง เดรเวอร์ บอยส์” ฮาสโน กล่าวในงานแถลงข่าวแมตช์พิเศษนี้
“เราจะเอานักเตะที่ดีที่สุดของ เอซี มิลาน อย่าง รุด กุลลิต และ แฟร้งก์ ไรจ์การ์ด มาให้ได้ รวมถึงกลุ่มนักเตะของ อาหยักซ์ อย่าง ไบรอัน รอย, อารอน วินเทอร์, สแตนลี่ย์ เมนโซ, เฮนรี่ ไมเยอร์ และ ลอยด์ ดอสเบิร์ก นอกจากนี้ยังมีนักเตะจาก เฟเยนูร์ด และ พีเอสวี อีกหลายคน”
แค่ประกาศแบบนี้ ชาวซูรินามทั้งในประเทศและที่อาศัยอยู่ในเนเธอร์แลนด์ต่างก็เนื้อเต้นดีใจ พวกเขาไม่ค่อยได้มีโอกาสมีงานหรือปาร์ตี้แบบนี้บ่อยนัก การที่นักเตะระดับแนวหน้ามาลงแข่งถึงที่ บวกกับการจัดงานสเกลใหญ่ราวกับงานคาร์นิวัลแบบนี้ ทำให้ทุกคนตั้งหน้าตั้งตารอเป็นอย่างมาก
ว่ากันว่าตั๋วเข้าชมที่มีราคาแสนถูกเพื่อให้ชาวซูรินามจับต้องได้ ขายหมดเกลี้ยงตั้งแต่วันแรกที่วางขาย แม้ ณ เวลานั้นจะยังไม่มีการยืนยันว่านักเตะคนไหนจะมาแข่งขันเกมนี้บ้างก็ตาม เพราะนั่นไม่สำคัญเท่ากับการได้เห็นนักเตะพรสวรรค์เชื้อสายซูรินามที่หากินและมีชื่อเสียงจากฟุตบอลได้จริง มันคือวันที่พวกเขารอคอยอย่างแท้จริง
รวมตัวเพื่อบ้านเกิด
งานนี้ได้รับการตอบรับจากนักเตะเชื้อสายซูรินามในประเทศเนเธอร์แลนด์หลายคน แต่น่าเสียดายที่กลุ่มนักเตะดังหลายคนไม่สามารถมาร่วมแมตช์การกุศลนี้ได้
นักเตะโปรไฟล์ระดับโลกอย่าง แฟร้งก์ ไรจ์การ์ด หรือ รุด กุลลิต ที่กำลังติดลมบนกับเส้นทางอาชีพนักเตะเวลานั้น พวกเขาเหล่านี้ยุ่งเกินกว่าจะต้องเดินทางข้ามมหาสมุทรเพื่อลงเล่นเกมที่ไม่ได้เป็นทางการ และประกอบกับช่วงเดือนมิถุนายน ถือเป็นช่วงพักร้อนของเหล่านักเตะอาชีพด้วย นั่นเป็นสาเหตุที่ต้นสังกัดของพวกเขาอย่าง เอซี มิลาน ไม่อนุญาตให้บินไปซูรินามเพื่อเล่นเกมนี้
แต่อย่างน้อยๆ ก็มีนักเตะอีกมากที่สนใจแมตช์การกุศลนี้ พวกเขาอาจจะไม่ได้มีชื่อเสียง แต่พวกเขาก็เชื่อว่าการได้กลับไปยังมาตุภูมิ ร่วมทำสิ่งดีๆและถือโอกาสไปพักผ่อนก็เป็นความคิดที่ไม่เลวนัก อาทิ สแตนลี่ย์ เมนโซ กองหลังดีกรีทีมชาติเนเธอร์แลนด์ของ อาหยักซ์ ที่เพิกเฉยต่อคำสั่งของต้นสังกัด เช่นเดียวกับ เฮนนี่ ไมเยอร์ ด้วย
พวกเขามองว่านี่คือเกมที่มีความหมายมากกว่าเรื่องเงินทองหรืออาชีพค้าแข้ง มันคือการมอบโอกาสและประสบการณ์ให้กับชาวซูรินามอีกหลายคนที่ตั้งตารอพวกเขา ราวกับพวกเขาเป็นนักเตะระดับโลก โดยทั้ง เมนโซ และ ไมเยอร์ นั้นเดินทางด้วยการออกเงินเองทั้งหมด ล่วงหน้าไปก่อนเที่ยวบินของ นักเตะของ XI ที่มีสีสัน 1 วัน
นอกจากนี้ยังมี แอนดี้ ชาร์มิน กองหลังของทีม ทเวนเต้ ซึ่งเลือกไปเล่นเกมที่ซูรินาม แทนที่จะไปเล่นในรายการฟุตบอลเยาวชนสุดดัง ตูลง คัพ ที่ประเทศฝรั่งเศส โดย ชาร์มิน เปิดเผยว่า นี่ไม่ใช่แค่เกมการกุศลแต่มันเป็นโอกาสดีมากๆที่เขาจะได้พาคนในครอบครัวกลับไปยังซูรินาม หลังจากไม่ได้กลับบ้านมาหลายปี
สตีฟ ฟาน ดอร์เพล และ เอดู นานด์ลัล นักเตะที่เล่นอาชีพในระดับลีกสูงสุดตั้งแต่ปี 1980 เคยเป็นลูกทีมของกุนซือดังอย่าง ดิก อัตโวคาท ก็ให้เหตุผลเดียวกันว่า พวกเขาไม่มีทางพลาดทริปนี้เด็ดขาด โดยเฉพาะ เอดู นั้น เขาบอกว่าเขาไม่ได้กลับบ้านเลยแม้แต่ครั้งเดียว นับตั้งแต่จากซูรินามมาตั้งแต่อายุ 13 ปี นี่ก็ผ่านมาแล้วกว่าสิบปี เรียกได้ว่าความคิดถึงพาพวกเขามารวมตัวกันอย่างแท้จริง
ฮาสโน รวมพลนักเตะอาชีพในเนเธอร์แลนด์ได้ถึง 17 คน รวมกับนักเตะกึ่งอาชีพอีก 8 คน พวกเขาวางคิวจะขึ้นเที่ยวบินของเช้าวันที่ 6 มิถุนายน ด้วยเครื่องบิน แมคดอนเนลล์ ดักลาส DC-8-62 ของสายการบิน ซูรินัมแอร์เวย์ เที่ยวบิน PY764 จากกรุงอัมสเตอร์ดัม สู่กรุงปารามาริโบ เมืองหลวงของซูรินาม
แต่สัญญาณไม่ดีก็เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ตอนนั้น เพราะเครื่องดีเลย์อยู่หลายชั่วโมง เนื่องจากมีปัญหาเกี่ยวกับมาตรวัดน้ำมัน ทำให้พวกเขาต้องติดอยู่ในสนามบินนานกว่ากำหนด
อย่างไรก็ตาม ใจของนักเตะหลายคนลอยไปที่ซูรินามแล้ว พวกเขาเล่าว่าตลอดการเดินทางตั้งแต่สนามบินยันขึ้นเครื่อง มันเหมือนกับงานปาร์ตี้ ได้ดื่มกินพูดคุยกับคนคอเดียวกัน มีดนตรีเล่นคลอไปตลอดทริป มันคือช่วงเวลาระดับคุณภาพที่มอบความสุขให้พวกเขาตั้งแต่ยังไม่ลงสนาม
เดิมทีกำหนดการคือการลงจอดยังสนามบินนานาชาติ ปารามาริโบ-ซานเดริจ พร้อมกับการต้อนรับขนานใหญ่แบบที่พวกเขาไม่เคยได้รับมาก่อน พวกเขาจะเป็นเหมือนกับดาราฮอลลีวูดบนพรมแดงที่เต็มไปด้วยเสียงยินดีกู่ร้อง พร้อมกับแสงแฟลชจากกล้องถ่ายรูป
น่าเสียดายที่ภาพที่พวกเขาเฝ้ารอ กับสิ่งที่เกิดขึ้นต่างกันอย่างอย่างสิ้นเชิง ในแบบที่ใครไม่อยากเชื่อ..
เที่ยวบิน 764
ระหว่างที่เครื่องลอยอยู่บนท้องฟ้าหลังจากต้องดีเลย์ไปทั้งหมด 12 ชั่วโมง ทุกคนยินดีกับการได้จัดงานปาร์ตี้ย่อมๆ และเหลืออีกไม่ไกลนักก็จะถึงเขตน่านฟ้าประเทศซูรินามอยู่แล้ว สัญญาณบางอย่างก็เริ่มขึ้น
“ผมเห็นแสงไฟจากหมู่บ้างต่างๆในป่าเขาแล้ว มันมืดจนผมมองเห็นไฟพวกนั้นได้ชัดมาก” นานด์ลัล หนึ่งในนักเตะที่อยู่บนเที่ยวบินนั้นกล่าวย้อนความ
ก่อนเครื่องลงจอดแค่ 20 นาที ห้องนักบินก็รายงานว่าสภาพอากาศแย่มาก ณ เวลานี้ มีหมอกหนาทำให้ทัศนวิสัยแย่เกินกว่าจะลงจอดปกติ ดังนั้น วิลล์ โรเจอร์ส กัปตันชาวอเมริกัน จึงตัดสินใจใช้ระบบลงจอดที่ออกแบบมาเพื่อสภาพอากาศที่เลวร้าย และฟังสัญญาณคำแนะนำจากหอควบคุมการบิน
พวกเขาเริ่มลงต่ำเรื่อยๆแบบวัดดวง เสียงดนตรีและความคึกคักในห้องโดยสารหายไปกลายเป็นความตึงเครียดและกดดันของสถานการณ์ที่พวกเขาไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น แต่รับรู้ได้ว่ามันคือเรื่องซีเรียสแน่นอน หลังจากได้ยินน้ำเสียงของกัปตัน
“เรากำลังลงไปสู่พื้นดิน แต่ผมก็รู้สึกได้ว่าเมื่อเราลดเพดานบินมีเหมือนกับมีบางอย่างมาชนเครื่องของเรา ผมคิดว่า -เวรแล้ว- เช่นเดียวกับทุกคน สถานการณ์เปลี่ยนไปเร็วมาก” นานด์ลัล กล่าวกับ The Guardian ซึ่งสิ่งที่เขารู้สึกคือ เมื่อเครื่องลงต่ำ ปีกของเครื่องบินทั้งสองฝั่งได้ชนกับต้นไม้ จากนั้นเครื่องก็หมุนควงกลางอากาศ 1 รอบ ก่อนเสียหลักกระแทกลงกับพื้นดินประเทศซูรินามอย่างจังเบอร์
“เปรี้ยง!” เสียงดังสนั่นจากแรงกระแทกเปลี่ยนเที่ยวบินแห่งความสุขกลายเป็นเที่ยวบินแห่งหายนะไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นักเตะของ XI ที่มีสีสัน เสียชีวิตทันที 15 คน และเหลือรอดชีวิตเพียง 3 คนเท่านั้นได้แก่ ซิกิ เลนส์ จากสโมสร ฟอร์ทูน่า ซิตตาร์ด, เอดู นานด์ลัล จาก วิเทสส์ และ รัดยิน เดอ ฮาน จาก เทลสตาร์
ทั้ง 3 คนที่รอดชีวิต ไม่มีใครสามารถกลับมาลงเล่นในระดับอาชีพได้อีกเลย นานด์ลัล เล่าว่า พวกเขาต้องอยู่ในป่าที่เครื่องบินตกอยู่หลายชั่วโมง ภายใต้ความมืดมิดและเสียงร้องโหยหวนของผู้บาดเจ็บมากมาย นั่นคือช่วงเวลาที่เขาจำได้จนวันตาย
การสูญเสียครั้งนี้อาจจะถูกพาดหัวข่าวด้วยชื่อของนักฟุตบอลหลายคน แต่จริงๆแล้วมีผู้โดยสารอีกมากมายหลายคนที่ต้องบาดเจ็บและเสียชีวิต มีการยืนยันว่าจากผู้โดยสารทั้งหมด 187 คน มีถึง 176 คนที่ต้องเสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ ซึ่งเป็นเหตุการณ์อุบัติเหตุทางอากาศที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศซูรินาม
หลังจากเหตุการณ์เครื่องบินตกก็มีการสอบสวนหาความจริง ถึงเหตุผลของอุบัติเหตุครั้งนี้ ที่สุดแล้ว มันกลายเป็นปัญหาที่สะท้อนถึงการเคยเป็นประเทศราชของซูรินามอย่างแท้จริง
การสอบสวนนั้นบอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของความผิดพลาดหลายประการ อย่างแรก เกิดจากข้อบกพร่องและการตัดสินใจของลูกเรือ ที่เลือกลงจอดในสถานการณ์ที่ไม่เหมาะสม โดยไม่สนใจสัญญาณเตือนจากหอบังคับการบิน
ประการที่สอง เครื่องบินลำนี้ก็เก่าแก่แบบสุดๆ โดยเครื่อง DC-8 ลำที่เกิดเหตุ ซึ่งถูกตั้งชื่อว่า แอนโทนี่ เนสตี้ ตามชื่อนักว่ายน้ำที่คว้าเหรียญทองโอลิมปิกให้ซูรินามในปี 1988 นั้นถูกผลิตขึ้นตั้งแต่ปี 1969 แถมยังมีประวัติเกิดอุบัติเหตุเมื่อปี 1979 สมัยที่เครื่องลำดังกล่าวยังอยู่ในฝูงบินของสายการบิน สายการบินบรานิฟฟ์ อินเตอร์เนชั่นแนล แม้อุบัติเหตุครั้งนั้นจะไม่มีผู้เสียชีวิต และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุครั้งนี้ก็ตาม
นอกจากเครื่องจะเก่าแล้ว กัปตันประจำไฟลต์ก็ยังมีอายุถึง 66 ปี เกินอายุสูงสุดที่อนุญาตสำหรับปฏิบัติการเป็นกัปตันในเที่ยวบินนี้ ซึ่งต้องมีอายุไม่เกิน 60 ปี นอกจากนี้ เขายังไม่ได้รับการตรวจสอบอย่างถูกต้องและอนุญาตให้บินเครื่อง DC-8 ได้ โดยเป็นความผิดพลาดของสายการบินที่ไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียด และปล่อยผ่านให้เขาซึ่งมีประสบการณ์กับเครื่องบินเล็ก เครื่องยนต์ลูกสูบ 2 ตัวเป็นหลัก มาคุมเครื่องบินขนาดใหญ่ที่ใช้เครื่องยนต์เจต 4 ตัวบนเที่ยวบินนี้
ผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ในครั้งนั้นอย่าง ซิกิ เลนส์ ยังเล่าภายหลังว่า “ตั้งแต่ผมก้าวขึ้นเครื่องลำนี้ เครื่องบินมันดูเก่ามาก บางจุดยังถูกยึดติดเอาไว้ด้วยเทปกาวอยู่เลย”
การใช้เครื่องบินเก่าและการใช้กัปตันที่ไม่ผ่านเกณฑ์อาจจะมีสาเหตุมากมาย แต่ที่แน่ๆ มันเกิดขึ้นจากการเซฟคอร์ส ประหยัดงบประมาณ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากความขัดสนที่มีอยู่เดิม โดยมองข้ามเรื่องความปลอดภัย สอดคล้องกับที่ หรือคณะกรรมการความปลอดภัยการขนส่งแห่งชาติสหรัฐอเมริกา ซึ่งต้องเข้ามาสอบสวนเคสนี้ เนื่องจากเครื่องบินลำดังกล่าวจดทะเบียนในประเทศสหรัฐอเมริกา
สรุปสาเหตุที่อาจนำมาซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวว่า มาจากความผิดพลาดของกัปตันที่บินในเพดานบินต่ำกว่าระดับที่อนุญาต และความผิดพลาดของสายการบินในการตรวจสอบเครื่องบิน รวมถึงการจ้างงาน
หลายคนอาจจะจำแค่นักเตะที่เสียชีวิต แต่ในความจริงมีผู้คนอีกมากมายหลายอาชีพที่อยู่บนเครื่อง มีคนหนุ่มสาวที่กำลังเดินทางกลับบ้านโดยมีครอบครัวรออยู่ มีกลุ่มข้าราชการที่ต้องเดินทางไปมาระหว่างเนเธอร์แลนด์และซูรินาม ชีวิตของพวกเขาจากไปเพราะความประมาทตั้งแต่ระบบโครงสร้าง จนถึงความผิดพลาดส่วนบุคคลที่เริ่มต้นจากการเลือกบุคลาการที่ไม่เหมาะกับงานที่ทำ
เกมฟุตบอลที่ควรได้จุดประกายสิ่งใหม่หลายสิ่งในประเทศซูรินาม กลับจบลงอย่างน่าเศร้า กลุ่มนักเตะที่เสียชีวิตในวันนั้นอาจจะไม่ใช่นักเตะดัง แต่หากพวกเขามาถึงซูรินาม พวกเขาจะกลายเป็นแรงบันดาลใจของเจเนอเรชั่นใหม่ น่าเสียดายที่หลายเหตุผลทำให้พวกเขาต้องจบชีวิตลงอย่างไม่ทันได้เตรียมใจ